สารทำความเย็น R32 และ R410a

สารทำความเย็น R32

มีคำถามมากมายเกี่ยวกับสารทำความเย็นชนิดใหม่ที่ผู้เขียนได้รับฟังมาเกี่ยวกับการเลือกซื้อเครื่องปรับอากาศระบบ R32 กับ R410a วันนี้เลยเข้ามาไขข้อข้องใจของคำถามที่ผู้บริโภคควรรู้เกี่ยวกับ

"การเลือกซื้อเครื่องปรับอากาศระบบ R32 กับเครื่องปรับอากาศระบบ R410a"

สารทำความเย็น R410a คืออะไร?

R410a คือสารผสมซึ่งประกอบขึ้นด้วยสารประกอบสองชนิดคือสารทำความเย็น R32 (อัตราส่วนร้อยละ 50) และ R125 (อัตราส่วนร้อยละ 50) ดังนั้นเมือนำสารทำความเย็นทั้งสองชนิดคือ R32 มารวมเข้ากับ R125 จึงถูกตั้งชื่อใหม่ว่า R410a โดย R410a นี้ได้ขึ้นทะเบียนกับสถาบัน ASHRAE (American Society of Heating, Refrigerating and Air Conditioning Engineers, USA) ในกลุ่มสาร Azeotropic Mixture ผู้ผลิตและนักวิทยาศาสตร์ที่ผลิต R410a รายแรกได้นำสารทำความเย็น R125 เข้าไปผสมด้วยจำนวนหนึ่งหรือในอัตราส่วนร้อยละ 50 โดยอาศัยคุณลักษณะพิเศษของอนุพันธ์สารชนิดนี้ที่มีปริมาณของฟลูออรีนเข้มข้นเพื่อเข้าไปทำการยับยั้งไม่ให้สารทำความเย็น R32 ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มสารที่สามารถติดไฟได้ (Class A2L) ไม่ให้ลุกติดไฟได้โดยง่าย แต่ยังคงความสามารถในการทำความเย็นได้ดีเยี่ยมและต้องทำความเย็นได้ดีกว่า R22 แต่เนื่องจากความดันไอและจุดเดือดของสารชนิดใหม่นี้ต้องการแลกเปลี่ยนความร้อนให้ได้ดีกว่า R22 จึงมีความจำเป็นต้องสร้างระบบเครื่องปรับอากาศชนิดใหม่เพื่อให้รองรับและ Matching กับสารทำความเย็น R410a เพื่อให้สัมพันธ์กับแรงดันไอและจุดเดือดของน้ำยาแอร์

สารทำความเย็น R32 คืออะไร?

เริ่มต้นด้วย R410a ก่อนแล้วค่อยมาดู R32 กัน ถึงตอนนี้หลายคนคงเริ่มพอเข้าใจบ้างแล้วนะครับ R32 ต่างกับ R410a ตรงที่ผู้ผลิตนำ R32 มาใช้ในอัตราส่วนเต็ม 100 คือการนำเอาสารทำความเย็น R32 ซึ่งเป็นสารประกอบที่มีจุดเดือดเพียงจุดเดียว (ไม่ได้เรียกว่า "สารเชิงเดี่ยว" ตามที่หลายคนชอบเรียกกันนะครับ) มาใช้งานตรงเลยโดยไม่นำไปผสมกับสารประกอบ R125 เหมือนใน R410a อีกต่อไป และเนื่องด้วย R32 เป็นกลุ่มสาร A2L (ติดไฟได้) ผู้ใช้งานจึงต้องปฎิบัติการด้วยความระมัดระวังกันด้วย แรงดันไอที่สูงกว่า R410a ขนาดของโมเลกุลที่มีความโตกว่า R410a ส่งผลให้ค่า Density (ค่าความถ่วงจำเพาะ) เปลี่ยนแปลงและมีมวล/ปริมาตรไม่เท่ากัน ปริมาณการเติมน้ำยาเมื่อระบบเกิดการรั่วไหลก็ไม่เท่ากันอีกด้วย ที่น่าเป็นห่วงคือเมื่อความโตของขนาดโมเลกุลที่มีมากกว่าและค่าความถ่วงจำเพาะที่น้อยกว่า และการติดไฟได้ง่ายกว่า R410a อัตราการเกิด Explosion ก็ย่อมมีมากกว่าเป็นเงาตามตัว ทั้งนี้ผมได้พูดรวมไปถึงการที่ในปัจจุบันช่างแอร์ชอบที่จะนำถังน้ำยาแอร์ R22 แบบ "ใช้แล้วทิ้ง" ที่บางกว่าภาชนะเหล็กหรือถังเหล็กของ R32 เพื่อนำไปแบ่งบรรจุน้ำยาแอร์ตามร้านจำหน่ายทั่วไป

Visitors: 351,896